Bitcoin Ordinals คืออะไร ทุกสิ่งที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับ Bitcoin NFT
บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับ Bitcoin Ordinals ในแบบภาพรวมที่คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย พร้อมทั้งวิเคราะห์ข้อดีให้ทราบ
สรุปใจความสำคัญ
- Bitcoin Ordinals เป็นระบบที่ช่วยให้ผู้คนสามารถเรียงลำดับ ระบุ และจารึก (Inscribe) คอนเทนต์ดิจิทัลบน Satoshi เพื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์ (Digital Artifact) ดิจิทัลได้
- เนื่องจาก Ordinals เพิ่งเปิดตัวในเดือนมกราคม จึงยังมีเครื่องมือสำหรับการสร้างและเทรดให้ใช้งานอยู่อย่างจำกัด
- Ordinals ทำให้เกิดกรณีการนำไปใช้งานในรูปแบบใหม่ๆ สำหรับ Bitcoin เช่น NFT และมาตรฐานโทเค็นใหม่ๆ
- สิ่งประดิษฐ์ดิจิทัล (Digital Artifact) ที่สร้างโดย Ordinals มีข้อดีเหนือ NFT อื่นๆ อยู่หลายประการ
Bitcoin Ordinals คืออะไร
Bitcoin Ordinals เป็นวิธีการแนบข้อมูลหรือ “จารึก” (Inscribe) คอนเทนต์ดิจิทัล เช่น รูปภาพ วิดีโอ และอื่นๆ ลงบน Satoshi แต่ละตัวบนบล็อกเชน Bitcoin โดย Satoshi (Sat) นี้เป็นหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดของ BTC มีค่าเท่ากับ 1/100,000,000 ของ BTC
Bitcoin Ordinals ประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลักคือ Ordinals (ลำดับ) และ Inscriptions (จารึก)
Ordinals หมายถึงระบบที่เรียงลำดับ Satoshi ในลักษณะเฉพาะ โดยเป็นการสร้างคุณสมบัติที่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนทดแทนได้ (Non-Fungible) ซึ่งจำเป็นสำหรับ NFT กล่าวโดยง่ายคือ Ordinals จะกำหนดหมายเลขเฉพาะให้กับ Satoshi แต่ละตัว ทำให้มีลักษณะเฉพาะที่ไม่ซ้ำกับตัวอื่นๆ ระบบหมายเลขนี้เป็นการสร้างหลักประกันว่า Satoshi แต่ละตัวนั้นจะมีตัวระบุเอกลักษณ์ที่ไม่ซ้ำกัน
Inscriptions แสดงคอนเทนต์จริงที่แนบมากับ Satoshi ซึ่งอาจเป็นรูปภาพ ข้อความ วิดีโอ หรือข้อมูลอื่นใดที่ผู้ใช้เชื่อมโยงกับ NFT โดยใน NFT อื่นนั้น คอนเทนต์นี้มักเรียกกันว่า Metadata
Inscription นี้มีความแตกต่างจาก NFT ประเภทอื่นๆ เพราะสร้างขึ้นเป็นคอนเทนต์ดิจิทัลแบบ On-Chain บน บล็อกเชน Bitcoin ในแบบที่ไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้ (Immutable) โดยเป็นการบันทึกลงไปบนบล็อกเชนโดยตรง จึงไม่จำเป็นต้องใช้ Layer แยกต่างหากหรือทำการเปลี่ยนแปลงใดๆ กับโปรโตคอล Bitcoin ทำให้สามารถเข้าถึงและเทรดได้โดยใช้ BTC
ผู้สร้าง Bitcoin Ordinals คือ Casey Rodarmor ชอบที่จะเรียก Inscription ว่า “สิ่งประดิษฐ์ดิจิทัล” (Digital Artifact) มากกว่าจะเรียกว่าเป็น NFT เนื่องจากเชื่อว่าคำว่า “สิ่งประดิษฐ์ดิจิทัล” นี้เป็นคำที่คุ้นเคยและเข้าใจกันได้ง่ายกว่า รวมถึง Inscription น่าจะมีศักยภาพการนำไปประยุกต์ใช้งานได้มากกว่าการเป็นเพียง NFT อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวงการบล็อกเชนคุ้นชินกับคำว่า NFT มากกว่า หลายคนจึงเรียก Inscription ว่า “Bitcoin NFT”
Bitcoin Ordinals ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนทำให้เครือข่าย Bitcoin มีการเข้าใช้งาน ค่าธรรมเนียม และการจัดเก็บข้อมูลเพิ่มมากขึ้น หากนับตั้งแต่เดือนมกราคม มีการสร้าง Inscription ไปแล้วทั้งสิ้น 11.8 ล้านชิ้น คิดเป็นต้นทุนในรูปค่าธรรมเนียมถึง 44.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ Ordinals มีศักยภาพในการทำให้ Bitcoin มีอรรถประโยชน์ที่หลากหลายยิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากการเป็นเพียง “ที่เก็บรักษามูลค่า” รวมถึงมีส่วนสนับสนุนลักษณะการนำ Bitcoin ไปใช้งานด้วย
ความนิยมของ Ordinals ทำให้ค่าธรรมเนียมเครือข่าย BTC เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (ที่มา: BitInfoCharts)
ตัวอย่างเช่น นับตั้งแต่เปิดตัว Ordinals มา บรรดานักพัฒนาก็ได้สร้าง BRC-20 ซึ่งเป็นมาตรฐานโทเค็นบน Bitcoin ที่คล้ายกับ ERC-20 บน Ethereum การมี BRC-20 ทำให้นักพัฒนาสร้าง Fungible Token ได้โดย Inscribe (จารึก) รหัสชนิดพิเศษที่เรียกว่า JSON ลงใน Satoshi รหัสนี้จะแสดงรายละเอียดที่สำคัญเกี่ยวกับโทเค็น เช่น จำนวนโทเค็นที่มีและชื่อต่างๆ ที่มี อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก Bitcoin ออกแบบมาให้มีความสามารถในการเขียนโปรแกรมได้น้อยกว่า Ethereum จึงมีหลายสิ่งที่โทเค็น BRC-20 ไม่สามารถทำได้
จนถึงตอนนี้ การใช้งานทั่วไปที่พบบ่อยที่สุดสำหรับ Ordinals คือการลง Inscription ที่เป็นข้อความ ตามมาด้วยรูปภาพ ในบางกรณีเป็นการแนบเสียง วิดีโอ วิดีโอเกม และรหัส (เช่น ในกรณีของโทเค็น BRC-20) กับ Satoshi แต่กรณีการใช้งานเหล่านี้ไม่เป็นที่นิยมเท่า
ประเภทของ Inscription ที่ได้รับความนิยมสูงสุดตามเวลา (ที่มา: @dgtl_assets บน Dune)
Bitcoin Ordinals ทำงานอย่างไร
Ordinals เกิดขึ้นจากการอัปเดตโปรโตคอล Bitcoin ด้วยกัน 2 ครั้งคือ SegWit ในปี 2017 และ Taproot ในปี 2021 การอัปเดตเหล่านี้ทำให้สามารถจัดเก็บข้อมูลใดๆ ลงในบล็อกเชนได้มากขึ้น จึงช่วยให้จัดเก็บรูปภาพ วิดีโอ และสื่อประเภทอื่นๆ ได้ แม้ว่าการอัปเดตเหล่านี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อ NFT โดยเฉพาะ แต่ผลพลอยได้จากการอัปเดตก็ทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับ Ordinals และ Inscriptions
SegWit ทำให้แยกส่วนที่เรียกว่า “ข้อมูลพยาน (Witness Data)” ในธุรกรรม Bitcoin ออกได้ ซึ่งเป็นการรองรับการส่งผ่านข้อมูลใดๆ จึงสามารถจัดเก็บข้อมูลได้มากขึ้นแม้ Bitcoin จะมีขนาดของบล็อก (Block Size) ที่จำกัด การอัปเดตนี้นับเป็นก้าวแรกสู่ Ordinal NFT เนื่องจากเป็นการขยายขีดจำกัดของจำนวนข้อมูลใดๆ ที่รวมเข้าไว้ในธุรกรรม 1 รายการได้
ในขณะที่ Taproot นั้นก็ได้ยกระดับความเป็นส่วนตัว ความสามารถในการขยายการรองรับ และความปลอดภัยของ Bitcoin ช่วยให้จัดเก็บข้อมูลพยานใดๆ ได้ง่ายขึ้นและผ่อนปรนข้อจำกัดด้านจำนวนข้อมูลใดๆ ที่ใส่ไว้ในธุรกรรม Bitcoin ได้ การอัปเกรดนี้ปูทางให้ Ordinals ใช้งานได้จริงด้วยการใช้ Taproot Script Path Spending
หากจะอธิบายวิธีการทำงานของ Ordinals ให้เข้าใจได้มากขึ้น ให้ลองดูตัวอย่างจากรหัสโทเค็นใน NFT ที่ไม่ใช่ Bitcoin รหัสโทเค็นเป็นสิ่งที่ใช้แสดงเอกลักษณ์ของ NFT แต่ละชิ้นเพื่อให้ผู้ใช้แยกความแตกต่างของแต่ละชิ้นได้ ในทำนองเดียวกัน Ordinals จะกำหนดหมายเลขเฉพาะให้กับ Satoshi แต่ละตัวตามลำดับการขุดเพื่อเป็นตัวระบุเอกลักษณ์ที่ไม่ซ้ำกันสำหรับ Satoshi แต่ละตัว โดย Satoshi ตัวแรกสุดที่ Mint ออกมานั้นจะเป็น Ordinal ตัวแรก และจะมีการกำหนดหมายเลขให้กับ Satoshi ตัวถัดๆ มาตามลำดับธุรกรรม ระบบหมายเลขนี้ดำเนินการตามขั้นตอนธุรกรรมแบบเข้าก่อนออกก่อน (First In First Out: FIFO)
สิ่งสำคัญที่ต้องทราบคือ Ordinals ไม่ได้ทำให้คุณสมบัติที่สามารถแลกเปลี่ยนทดแทนได้ของ BTC นั้นหายไป นั่นเป็นเพราะตัวบล็อกเชน Bitcoin เองไม่ได้รู้จักระบบการเรียงลำดับนี้ แต่ชุมชนนักพัฒนานั้นทราบถึงความสำคัญของระบบดังกล่าว จึงได้สร้างเครื่องมือที่ใช้ประโยชน์จาก Ordinals ในการทำให้ Bitcoin มีกรณีการนำไปใช้งานที่มากยิ่งขึ้น
บล็อกเชนที่ไม่ใช่ Bitcoin อนุญาตให้แนบข้อมูลใดๆ ไปกับตัว NFT ได้เพื่อให้เป็นตัวแทนของ สินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบต่างๆ แต่ในกรณีของ Ordinals นั้น จะจัดเก็บ Metadata ไว้ในข้อมูลพยานของธุรกรรม Bitcoin โดยจะ “Inscribe” (จารึก) ข้อมูลดังกล่าวไว้ในส่วนเฉพาะของธุรกรรมและมักจะเกี่ยวข้องกับ Satoshi ตัวใดตัวหนึ่ง
Ordinals เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ใช้สร้าง ดู และติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่เชื่อมโยงกับ Satoshi แต่ละตัวบนบล็อกเชน Bitcoin ได้ สิ่งที่พิเศษเกี่ยวกับ Ordinals คือไม่ได้เป็นการสร้างโทเค็นขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการดำเนินการกับ Satoshi ที่มีอยู่ ซึ่งหมายความว่า Satoshi ตัวที่มีการ Inscribe (จารึก) ไว้นั้นสามารถนำมาส่งและใช้จ่ายได้เช่นเดียวกับตัวอื่นๆ จึงเรียกได้ว่ามีทั้งคุณสมบัติที่สามารถแลกเปลี่ยนทดแทนได้ (Fungible) และไม่สามารถแลกเปลี่ยนทดแทนได้ (Non-Fungible) ในเวลาเดียวกัน
Bitcoin Ordinals สร้างขึ้นมาอย่างไร
ในช่วงเริ่มแรก เฉพาะผู้ที่มี Bitcoin Full Node และ Wallet พิเศษที่จัดการกับ Satoshi ได้เท่านั้นที่สามารถสร้าง Inscription ได้ แต่ปัจจุบันมีเครื่องมือมากขึ้นที่ทำให้ดำเนินกระบวนการนี้แบบอัตโนมัติได้ เช่น Gamma หรือ Ordinals Bot ทำให้ผู้ใช้ที่ไม่ค่อยเชี่ยวชาญเรื่องทางเทคนิคนักก็สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น พร้อมทั้งลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องลงได้ด้วย
ในการสร้าง Inscription นั้น ผู้ใช้จำเป็นต้องส่งธุรกรรมที่ประกอบด้วย Satoshi ตัวเดี่ยวๆ ไปยัง Wallet ที่รองรับ Taproot และแนบข้อมูล Metadata ที่ต้องการไปด้วยเป็นส่วนหนึ่งของธุรกรรม ผู้ใช้จำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า Satoshi ตัวที่ต้องการนั้นไม่ได้ใช้เพื่อชำระค่าธรรมเนียมเครือข่าย
ข้อควรสังเกตคือเครื่องมือและระบบนิเวศที่เกี่ยวกับ Bitcoin Ordinals นั้นยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดย Ordinals ตัวแรกสุดเพิ่งได้ Inscribe ไปเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หากผู้ใช้ที่ไม่ค่อยเชี่ยวชาญเรื่องทางเทคนิคนักหันมาแสดงความสนใจและมีความต้องการเพิ่มขึ้น ก็เป็นไปได้ว่าระบบนิเวศและเครื่องมือต่างๆ จะได้รับการพัฒนาให้ใช้งานง่ายขึ้นกว่าเดิม
Bitcoin Ordinals มีวิธีโอนและเทรดอย่างไร
เนื่องจาก Bitcoin Ordinals ยังค่อนข้างเป็นสิ่งใหม่อยู่ เครื่องมือสำหรับการโอนและเทรด Inscription นั้นจึงยังไม่สมบูรณ์ เช่นเดียวกับเครื่องมือสำหรับการสร้าง Bitcoin Ordinals อย่างไรก็ตาม ก็มีขั้นตอนที่คุณสามารถทำได้ หากต้องการเป็นเจ้าของ Inscription ของคุณเอง
ขั้นแรก ค้นคว้าหาข้อมูลโปรเจกต์ที่สร้างสิ่งประดิษฐ์ดิจิทัล (Digital Artifact) เช่น Ordinal Punks, Ord Rocks และ Taproot Wizards ในขณะที่หากต้องการจะเทรดนั้น ก็อาจยังไม่มีแพลตฟอร์มสาธารณะให้บริการเทรด เนื่องจาก Bitcoin Ordinals ยังเป็นสิ่งที่ใหม่อยู่ จึงจำเป็นต้องไปเข้าร่วมเซิร์ฟเวอร์ Discord ของโปรเจกต์ที่คุณสนใจ โปรเจกต์ต่างๆ เหล่านี้จัดการเรื่องการเทรดบนเซิร์ฟเวอร์ของตน โดยมีระบบให้ผู้ขายกำหนดราคาและให้ผู้ซื้อเสนอราคา โดยสรุปคือดูคอลเลกชันต่างๆ, เข้าร่วม Discord, หาข้อมูลด้วยตนเอง และตรวจสอบราคา
นอกจากนี้ ยังมี Inscription บางชิ้นที่หาได้ใน OpenSea เช่นกันผ่านทาง Emblem Vault แต่ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า BTC Address ของ Vault นั้นตรงกับ Bitcoin Address ที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ Ordinals เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกสแกม
ขั้นถัดไป ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณมี Bitcoin Wallet ที่เปิดใช้งาน Taproot ตัวอย่าง Wallet ที่รองรับ Taproot เช่น Ledger, Trezor, Bitcoin Core และ Zeus
เมื่อพบ Inscription ที่ต้องการซื้อแล้ว ก็สามารถซื้อได้จากเซิร์ฟเวอร์ Discord ของโปรเจกต์ หรือจะซื้อผ่านการประมูลก็ได้เช่นกัน จากนั้นทำธุรกรรมให้เรียบร้อยหลังจากตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียดรอบคอบแล้วเท่านั้น
ข้อดีของ Bitcoin Ordinals มีอะไรบ้าง
ก่อนที่จะมี Ordinals ก็เคยมีโปรเจกต์อย่าง RGB และ Taro มาก่อนที่พยายามผสานการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ เข้ากับบล็อกเชน Bitcoin แต่โปรเจกต์เหล่านี้โดยพื้นฐานแล้วเป็น Layer-2 ของบล็อกเชน Bitcoin แม้อาจมีฟีเจอร์มากกว่า Ordinals แต่การใช้งานนั้นซับซ้อนกว่า Inscription อาศัยบล็อกเชน Bitcoin ที่ค่อนข้างเรียบง่ายและไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก ในขณะที่ NFT อื่นๆ ดำเนินงานบนเครือข่ายและ Virtual Machine ที่ซับซ้อน ความเรียบง่ายเช่นนี้ของ Inscription ทำให้มีความปลอดภัยมากกว่าและเสี่ยงต่อช่องโหว่น้อยกว่า
สิ่งที่น่าสนใจคือ Satoshi Inscription ใช้โมเดลข้อมูลที่คล้ายกับเว็บ จึงรองรับคอนเทนต์ประเภทใดก็ได้ที่เว็บเบราว์เซอร์รองรับได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปแก้ไขโปรโตคอลที่ใช้งาน ทำให้มีความยืดหยุ่นสำหรับประเภทคอนเทนต์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด
RGB, Taro และแม้แต่ Ethereum NFT มักจัดเก็บคอนเทนต์ไว้แบบ Off-Chain ซึ่งอาจอยู่บนแพลตฟอร์มเช่น IPFS หรือ Arweave ที่อาจไม่รับประกันความพร้อมใช้งานในระยะยาว ในขณะที่คอนเทนต์ของ Inscription นั้นจัดเก็บไว้ในบล็อกเชนของ Bitcoin เองเสมอ จึงมีความคงทนมากขึ้นและมีโอกาสสูญหายน้อยลง
Inscription มีคุณสมบัติที่ไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้ (Immutable) เสมอ หมายความว่าเมื่อสร้างขึ้นมาแล้ว ใครก็ตามก็ไม่สามารถไปปรับเปลี่ยนหรือลบทิ้งได้ แต่ในทางตรงกันข้าม NFT ทั่วไปนั้นสามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้ (Mutable) ซึ่งหมายความว่าเจ้าของสัญญา NFT สามารถเข้าไปปรับเปลี่ยนหรือลบคอนเทนต์ทิ้งได้
นอกจากนี้ Ordinals และ Inscription จำเป็นต้องใช้ BTC ในการ Mint, โอน หรือจัดเก็บ จึงทำให้มีระดับความหายากมากกว่าโดยตัวเองและอาจมีมูลค่ามากกว่าด้วยเช่นกัน เพราะ NFT จาก Chain อื่นๆ สามารถ Mint ได้ไม่จำกัดจำนวนในธุรกรรมเดียว จึงทำให้มีระดับความหายากน้อยกว่า
ประการสุดท้าย Ordinals และ Inscription ไม่ได้มีการอ้างว่ารองรับค่าลิขสิทธิ์แบบ On-Chain เนื่องจากการนำคุณสมบัตินี้มาใช้งานอาจทำได้ลำบาก Ethereum NFT เคยเผชิญกับความสับสนและความท้าทายมาแล้วในเรื่องค่าลิขสิทธิ์แบบ On-Chain ทำให้เกิดการไม่ยอมรับขึ้นภายในระบบนิเวศ
ข้อสงวนสิทธิ์ ความคิดเห็นที่อยู่ในบทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเท่านั้น บทความนี้ไม่ใช่การสนับสนุนผลิตภัณฑ์และบริการใดๆ ที่ได้มีการเอ่ยถึง รวมถึงไม่ใช่คำแนะนำด้านการลงทุน การเงิน หรือการเทรด ผู้ใช้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการรับรองก่อนตัดสินใจลงทุน
- Blockchain101: ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ DApp2024-12-20 | 5m