ETF คริปโตคืออะไร คู่มือฉบับสมบูรณ์สำหรับ ETF คริปโต
สรุปใจความสำคัญ
- ETF คริปโต คือ Exchange-Traded Fund (ETF) ที่ติดตามราคาของคริปโทเคอร์เรนซีอย่างน้อย 1 รายการ
- ETF คริปโตมีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภทหลัก คือ Physically-Backed ETF, Synthetic-Backed ETF และ Crypto-Adjacent ETF
- ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกา SEC อนุญาตเฉพาะ Synthetic-Backed ETF และ Crypto-Adjacent ETF แต่หลายบริษัทก็ยังพยายามยื่นขออนุญาตเพื่อให้บริการ Physically-Backed ETF อยู่เช่นกัน
- แม้ว่า ETF คริปโตจะช่วยให้นักลงทุนเข้าถึงและลงทุนในตลาดคริปโตได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยที่ไม่ต้องศึกษาข้อมูลทางเทคนิคให้วุ่นวาย อย่างไรก็ตาม การรู้เท่าทันข้อเสียของ ETF คริปโตก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ เช่น ข้อผิดพลาดในการติดตามราคา หรือข้อจำกัดในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จาก DeFi เป็นต้น
ETF คริปโตคืออะไร
ก่อนที่จะไปรู้จักกับ ETF คริปโต เราจำเป็นต้องรู้ก่อนว่า “ETF” คืออะไร
อธิบายอย่างง่ายได้ว่า ETF หรือ Exchange-Traded Fund คือ กองทุนเพื่อการลงทุนที่ช่วยให้คุณซื้อสินทรัพย์จำนวนมาก รวมถึงหุ้น, ตราสารหนี้, สินค้าโภคภัณฑ์ หรือแม้แต่สินทรัพย์ทางเลือก เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือคริปโทเคอร์เรนซีได้ภายในธุรกรรมเดียว โดย ETF มีจุดมุ่งหมายเพื่อสะท้อนประสิทธิภาพของดัชนี เซกเตอร์ หรือกลุ่มสินทรัพย์ แล้วยังสามารถนำมาเทรดในตลาดหลักทรัพย์ได้ ราวกับเป็นหุ้นตัวหนึ่งเลยทีเดียว นอกจากนั้น กองทุนเหล่านี้ยังทำหน้าที่เหมือนกับหุ้นทั่วไป เนื่องจากราคาอาจเปลี่ยนแปลงได้ภายในหนึ่งวันตามการขายหรือซื้อของนักลงทุน โดยพื้นฐานแล้ว ETF จะรวมเอาคุณสมบัติที่ดีที่สุดของดัชนีและหุ้นเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อทำให้นักลงทุนสามารถมีพอร์ตสินทรัพย์ที่หลากหลายได้ พร้อมราคาที่อัปเดตเป็นประจำ
ETF คริปโต แตกต่างจาก ETF แบบดั้งเดิมตรงที่สามารถติดตามดัชนีหรือสินทรัพย์ได้อย่างหลากหลาย โดยจะติดตามราคาของคริปโทเคอร์เรนซีมากกว่า 1 รายการขึ้นไป แต่สิ่งที่มีเหมือนกันกับ ETF แบบดั้งเดิม ก็คือ ราคาของ ETF คริปโตอาจเกิดการผันผวนได้ตลอดทั้งวันตามการเทรดที่เกิดขึ้น กล่าวได้ว่า ETF คริปโตเป็นโซลูชันทางเลือกที่ยอดเยี่ยม เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจในคริปโทเคอร์เรนซี แต่ยังลังเลที่จะจัดการสินทรัพย์ที่ “ค่อนข้างใหม่” เหล่านี้ด้วยตนเอง
ในปี 2021 ณ ประเทศแคนาดา มีการเปิดตัว ETF คริปโตรายการแรกของโลกชื่อ “Purpose Bitcoin ETF (BTCC)” ซึ่งเป็น ETF ที่ติดตามราคา Spot ของ BTC
ประเภทของ ETF คริปโต
ETF คริปโตมีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภทหลัก คือ Physically-Backed ETF, Synthetic-Backed ETF และ Crypto-Adjacent ETF
“Physically-Backed ETF” จะเกี่ยวข้องกับบริษัทการลงทุนที่เข้ามาจัดการกองทุน และซื้อคริปโทเคอร์เรนซีจริง ความเป็นเจ้าของเหรียญเหล่านี้จะถูกแสดงเป็น “หุ้น” ใน ETF และเมื่อนักลงทุนซื้อหุ้นเหล่านี้ พวกเขาก็จะได้สิทธิ์เป็นเจ้าของคริปโทเคอร์เรนซีอ้างอิงทางอ้อมนั่นเอง หลักการนี้จะช่วยให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงและเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลได้ โดยที่ไม่มีค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเป็นเจ้าของสินทรัพย์เหล่านั้นโดยตรง
“Synthetic-Backed ETF” เป็นประเภทที่ติดตามอนุพันธ์คริปโทเคอร์เรนซี เช่น สัญญา Futures และ Exchange-Traded Product (ETP) ประเภทอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ETF บางตัวที่เสนอให้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของสหรัฐ (Securities and Exchange Commission: SEC) ที่ติดตามราคาของสัญญา Futures ของ BTC ที่เทรดใน Chicago Mercantile Exchange (CME) พบว่าในกรณีนี้ ราคาหุ้นของ ETF สะท้อนการเคลื่อนไหวของราคาของอนุพันธ์เหล่านี้ มากกว่าที่จะเป็นคริปโทเคอร์เรนซีจริงนั่นเอง
ประเภทที่ 3 ของ ETF คริปโตเรียกว่า “Crypto-Adjacent ETF” ซึ่งแตกต่างจาก ETF คริปโตแบบอื่นๆ ที่ติดตามราคาของคริปโทเคอร์เรนซีหรือใช้สัญญา Futures เพราะ ETF ประเภทนี้จะมุ่งเน้นไปที่การลงทุนในหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซีแทน การทำงานลักษณะนี้จะช่วยให้นักลงทุนสามารถลงทุนกับการเติบโตของเศรษฐกิจคริปโตโดยรวมได้หลากหลายยิ่งขึ้น โดยทำงานเหนือไปกว่าการติดตามความเคลื่อนไหวของราคาของคริปโทเคอร์เรนซี เช่น Bitcoin เพียงอย่างเดียว
ETF คริปโตทำงานอย่างไร
ETF คริปโตทำงานในลักษณะของการช่วยให้นักลงทุนได้เข้าถึงและลงทุนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี และเนื่องจาก ETF สามารถนำไปเทรดในตลาดหลักทรัพย์ได้ จึงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ SEC ในสหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน ETF คริปโตที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับข้อจำกัดที่ห้ามไม่ให้ถือครองคริปโทเคอร์เรนซีจริงในพอร์ตการลงทุนโดยตรง แต่เลือกใช้วิธีการอื่นเพื่อให้นักลงทุนได้มีส่วนร่วมในโลกแห่งคริปโตแทน นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ในปัจจุบัน สหรัฐอเมริกายังไม่มี Physically-Backed ETF เนื่องจากเหตุผลด้านกฎระเบียบและข้อบังคับ แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศอื่นๆ กลับมี Physically-Backed ETF อยู่หลายตัวพร้อมให้ใช้งาน รวมถึง Bitcoin ETF (EBIT) ในแคนาดา Purpose Bitcoin ETF (9F31, 9F32, 9F33) ในเยอรมนี และ Bitcoin ETF ของ QR Capital (QBTC11) ในบราซิล
หนึ่งในหลักการทั่วไปที่ถูกนำมาใช้ใน ETF คริปโตของสหรัฐอเมริกา คือ การใช้สัญญา Futures ของคริปโต สัญญาเหล่านี้จะอนุญาตให้นักลงทุนเก็งกำไรกับการเคลื่อนไหวของราคาในอนาคตของคริปโทเคอร์เรนซี โดยไม่ต้องเป็นเจ้าของสินทรัพย์อ้างอิง ส่วน Synthetic-Backed ETF จะคอยติดตามราคาของสัญญา Futures ที่เทรดในแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแล เช่น CME หลักการคือ เมื่อราคาของสัญญา Futures เพิ่มขึ้นหรือลดลง ราคาหุ้นของ ETF ก็จะปรับตัวไปในลักษณะเดียวกัน ตัวอย่าง ETF ที่จัดอยู่ในหมวดหมู่นี้ คือ ProShares Bitcoin Strategy ETF
นอกจากนี้ ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ใน ETF คริปโต เช่น Bitwise Crypto Industry Innovators ETF (BITQ) คือ การลงทุนในหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งบริษัทที่กล่าวถึงนี้อาจเป็นได้ตั้งแต่บริษัทขุดคริปโต ไปจนถึงผู้ให้บริการเทคโนโลยีบล็อกเชนเลยทีเดียว หลักการคือ เมื่อเราถือหุ้นของบริษัทดังกล่าว ก็ถือว่า Crypto-Adjacent ETF ได้เข้าถึงตลาดคริปโตในทางอ้อมด้วยเช่นกัน ทำให้ราคาหุ้นของ ETF สามารถสะท้อนถึงประสิทธิภาพของหุ้นอ้างอิงได้นั่นเอง
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หลายบริษัทในอเมริกาต่างพยายามนำเสนอ Physically-Backed ETF ซึ่งติดตามราคา Spot ของคริปโทเคอร์เรนซีโดยตรง อย่างไรก็ตาม ความพยายามเหล่านั้นกลับยังไม่เห็นผล เนื่องจาก SEC ได้ปฏิเสธ ETF ประเภทนั้นเสมอมา สถานการณ์นี้ยังคงไร้ความหวังจนกระทั่งการนำเสนอ Bitcoin ETF ครั้งล่าสุดของ Blackrock ในเดือนมิถุนายน ปี 2023 เรียกได้ว่าตอนนี้สถานการณ์ได้พลิกกลับมามีความหวังอีกครั้ง เป็นไปได้ว่า Spot ETF คริปโตอาจกลายเป็นความจริงขึ้นมาได้ในที่สุด และจำนวน ETF คริปโต ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต
คุณสามารถอ่าน Bitget Bites เพื่อติดตามอัปเดตรายวันเกี่ยวกับ ETF คริปโตได้ที่นี่
ข้อดีและข้อเสียของการลงทุนใน ETF คริปโต
แม้ว่า ETF คริปโตจะมีข้อดีหลายประการ แต่นักลงทุนก็ยังต้องพิจารณาข้อเสียและศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน รวมถึงปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงิน และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
ข้อดี
1. กระจายพอร์ตการลงทุนด้วยต้นทุนต่ำ: ETF คริปโตช่วยให้นักลงทุนกระจายพอร์ตการลงทุนของตนเองได้ โดยอนุญาตให้เข้าถึงคริปโทเคอร์เรนซีกลุ่มหนึ่งด้วยราคาที่ค่อนข้างต่ำ จุดเด่นนี้ถือว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งเพราะราคาของคริปโทเคอร์เรนซีที่โดดเด่น เช่น BTC และ ETH มักจะสูงเกินไปสำหรับนักลงทุนทั่วไป
2. การลงทุนแบบง่ายสำหรับมือใหม่: สำหรับนักลงทุนที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่ตลาดคริปโต การใช้งาน ETF ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ง่ายดายกว่าวิธีอื่นๆ เพราะ ETF ช่วยกำจัดขั้นตอนการศึกษาข้อมูลด้วยตนเองเกี่ยวกับ Self-Custody และความรู้ทางเทคนิคที่จำเป็นต้องมีสำหรับการโอนคริปโทเคอร์เรนซีระหว่างวิธีการจัดเก็บแบบต่างๆ ไปได้เป็นอย่างดี
3. ไม่จำเป็นต้องบริหารจัดการ สินทรัพย์ดิจิทัล: นักลงทุนใน ETF คริปโตจะไม่ต้องกังวลเรื่องการจัดการสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยตนเองอีกต่อไป เพราะ ETFs เปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้าถึงตลาดคริปโตได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเป็นเจ้าของและการดูแลความปลอดภัยของคริปโทเคอร์เรนซีโดยตรง
4. การเพิ่ม สภาพคล่องและการใช้งาน: ETF ได้รับความคาดหวังอย่างสูงจากผู้ที่ชื่นชอบคริปโทเคอร์เรนซีว่าจะสามารถเพิ่มสภาพคล่อง และส่งเสริมการนำไปใช้งานในวงกว้าง เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการลงทุนได้
5. ง่ายต่อการเทรด: นักลงทุนสามารถซื้อและขาย ETF คริปโตได้ทุกเมื่อในตลาดหลักทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ซึ่งเป็นจุดเด่นที่แตกต่างจากกองทุนอื่นๆ ที่มีช่วงเวลาสำหรับการเทรดเฉพาะ
6. ประสิทธิภาพด้านภาษี: โดยทั่วไปแล้ว ETF จะสร้างการกระจายกำไรจากเงินทุนที่ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับกองทุนรวมที่มีการบริหารจัดการอย่างจริงจัง ดังนั้นจึงส่งผลให้การลงทุนกับ ETF มีประสิทธิภาพในแง่ของภาษีมากขึ้น
7. ความยืดหยุ่นในการเทรด: ETF สามารถนำไปเทรดได้เช่นเดียวกับหุ้น จึงช่วยให้นักลงทุนใช้ประโยชน์จาก Order ประเภทต่างๆ ได้ เช่น Limit Order หรือ Stop Loss Order ดังนั้นจึงถือเป็นการลงทุนที่ให้ความยืดหยุ่นในการเทรดมากกว่าเมื่อเทียบกับกองทุนรวมนั่นเอง
8. เครื่องมือการลงทุนที่เป็นไปตามการกำกับดูแล: ETF คริปโตดำเนินการภายใต้กรอบการกำกับดูแล จึงถือว่าเป็นตัวเลือกการลงทุนที่ค่อนข้างปลอดภัย และได้รับการคุ้มครองมากกว่า เมื่อเทียบกับการเทรดคริปโทเคอร์เรนซีโดยตรง
ข้อเสีย
1. ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นด้วย Synthetic ETF: Synthetic-Backed ETF ที่ต้องอาศัยการติดตามอนุพันธ์ อาจมีความเสี่ยงเพิ่มเติมอันเนื่องมาจากการขาดความโปร่งใสในการดำเนินงาน
2. การเผชิญความผันผวนของสินทรัพย์อ้างอิง: ETF คริปโตยังคงมีความผันผวนในระดับที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากมูลค่าของ ETF นั้นเชื่อมโยงกับตลาดคริปโทเคอร์เรนซีของสินทรัพย์อ้างอิง
3. สิทธิประโยชน์จำกัดเมื่อเทียบกับการเป็นเจ้าของคริปโต: นักลงทุนใน ETF คริปโตจะไม่ได้เป็นเจ้าของคริปโทเคอร์เรนซีอ้างอิง ซึ่งนั่นหมายความว่าพวกเขาจะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากระบบการเงินแบบกระจายศูนย์ เลเวอเรจ หรือใช้คริปโตในการชำระค่าสินค้าและบริการได้
4. ข้อจำกัดทางกฎหมาย: ปัจจุบัน ETF คริปโตที่จดทะเบียนในสหรัฐอเมริกาถูกจำกัดไม่ให้เข้าถึงคริปโทเคอร์เรนซีโดยตรง ดังนั้นจึงต้องพึ่งพาสัญญา Futures หรือหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับคริปโตแทน
5. ต้นทุนในการเทรด: การลงทุนด้วยจำนวนเพียงเล็กน้อยใน ETF เป็นประจำ อาจส่งผลให้ต้นทุนในการเทรดสูงขึ้นเมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ โดยตรง
6. สภาพคล่อง: ETF บางตัวที่มีการเทรดในปริมาณต่ำอาจมีช่วงราคา Bid/Ask ที่กว้าง ส่งผลให้นักลงทุนต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเมื่อซื้อหรือขายหุ้น
7. ข้อผิดพลาดในการติดตาม: แม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว ETF จะติดตามดัชนีอ้างอิงได้อย่างดี แต่บางครั้งปัญหาทางเทคนิคอาจนำไปสู่ความคลาดเคลื่อนในประสิทธิภาพการติดตามได้
8. วันที่ชำระราคา: การขาย ETF จะไม่ได้รับการชำระราคาในทันที และจะใช้เวลา 2 วันกว่าที่กองทุนจากการขายจะพร้อมสำหรับการลงทุนอีกครั้ง ซึ่งนั่นอาจทำให้เกิดความล่าช้าในการปรับใช้เงินทุนได้
บทสรุป
ETF คริปโตพร้อมมอบแนวทางที่เรียบง่ายและเป็นไปตามการกำกับดูแลให้กับนักลงทุนทุกคน เพื่อให้พวกเขาได้เข้าสู่โลกแห่งคริปโตอย่างสะดวกสบาย โดยที่ไม่ต้องบริหารจัดการสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยตนเอง เมื่อความนิยมของคริปโทเคอร์เรนซียังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กองทุนเหล่านี้ก็จะเป็นเครื่องมือการลงทุนที่แสนสะดวกสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าสู่ตลาดของสกุลเงินดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ควรตระหนักไว้เสมอคือ ถึงแม้ว่า ETF คริปโตจะให้การเข้าถึงตลาดคริปโตได้ แต่การลงทุนในลักษณะนี้ยังคงแตกต่างจาก การลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีโดยตรง ดังนั้น นักลงทุนควรประเมินความเสี่ยงและผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนเหล่านี้อย่างรอบคอบ และพิจารณาเป้าหมายการลงทุนรวมถึงระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วยเช่นกัน
ข้อสงวนสิทธิ์: ความคิดเห็นที่อยู่ในบทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเท่านั้น บทความนี้ไม่ใช่การสนับสนุนผลิตภัณฑ์และบริการใดๆ ที่ได้มีการเอ่ยถึง รวมถึงไม่ใช่คำแนะนำด้านการลงทุน การเงิน หรือการเทรด ผู้ใช้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการรับรองก่อนตัดสินใจลงทุน